บล็อก

เครื่องดื่มดี เครื่องดื่มแย่ต่อตับของคุณ

เครื่องดื่มดีต่อตับ

1. กาแฟ

มีการศึกษามากมายพบว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง (cirrhosis), ลดการเกิดผังผืดในตับ (liver fibrosis), ช่วยเสริมการทำงานของตับให้ดีขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ (liver cancer)

การศึกษาในระยะหลังๆ นี้ยังพบว่าการดื่มการแฟที่ดีต่อสุขภาพที่สุดควรเป็นกาแฟที่ผ่านตัวกรอง (filtered coffee) เช่นตัวกรองกระดาษ เนื่องจากสามารถกรองและลดระดับคอเลสเตอรอล (cholesterol) เมื่อเปรียบเทียบกับกาแฟที่ไม่ผ่านกระดาษกรองa

2. ชาเขียว

ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มที่ได้รบการพิสูจน์ว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด จากการศึกษาจำนวนมากพบว่าการดื่มชาเขียวช่วยป้องกันการเกิดโรคตับ ป้องกันมะเร็งตับ และป้องกันการเกิดไขมันพอกตับได้ โดยในชาเขียวมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenol) b

3. ชาอาร์ทิโชก

 อาร์ทิโชก (Artichoke) เป็นพืชที่นำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาโรคตับ โรคดีซ่าน อาการอาหารไม่ย่อย มาตั้งแต่สมัยยุโรปโบราณ มีการนำสารสกัดจากใบอาร์ทิโชกมาศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease) พบว่าทำให้ไขมันที่พอกตับลดลง การทำงานของตับดีขึ้น ค่าเอนไซม์ตับดีขึ้น หลังจากใช้สารสกัดจากอาร์ทิโชกนาน 2 เดือน c,d

ชาอาร์ทิโชก (Artichoke tea) มีการนำมาทำการศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ โดยนำใบชา 1 ช้อนโต๊ะมาชงดื่มกับน้ำเดือด ดื่มวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 45 วัน ผลการทดลองพบว่าค่าเอนไซม์ตับ Aspartate Aminotransferase (AST) และ Alanine Aminotransferase (ALT) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงถึงการทำงานของตับที่ดีขึ้น และความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับในผู้ป่วยลดลงและค่าคอเลสเตอรอล (cholesterol) ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ค่าน้ำตาลในเลือดและค่าไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) มีแนวโน้มลดลง ในอาร์ทิโชกมีสาระสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid compounds) ซึ่งเป็นกลุ่มของสารประกอบโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ยับยั้งการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลและเพิ่มการหลั่งน้ำดีของตับ ช่วยให้ย่อยสลายไขมันและถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ e

เครื่องดื่มแย่ต่อตับ

1. แอลกอฮอล์

เป็นที่ทราบกันดีจากข้อมูลสนับสนุนมากมายว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการเกิดโรคตับต่างๆ ตั้งแต่โรคตับอักเสบ โรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง ไปจนถึงตับวายหรือมะเร็งตับ จากคำแนะนำของ “Dietary Guideline for American 2015-2020” ระบุว่า ปริมาณแอลกอฮอล์สูงสุดที่ดื่มในแต่ละวันสำหรับผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 แก้ว ส่วนในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 แก้ว แต่ก็ไม่แนะนำให้ดื่มทุกวันติดต่อกันหลายวัน และสำหรับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่แนะนำให้เริ่มดื่มเช่นกัน นอกจากโรคตับแล้วแอลกอฮอล์ก็ยังเป็นสาเหตุของโรคอีกหลายโรค ทั้งความดันโลหิตสูงและโรคมะเร็งต่างๆf

2. น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ผสมน้ำตาล

จากการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง บริโภคน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ผสมน้ำตาลมากกว่าในกลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี เมื่อติดตามความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับและปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลพบว่า การบริโภคเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับการเกิดไขมันพอกตับ แม้ว่าจะยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัดแต่ผลจากการทดลองก็แนะนำให้เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ผสมน้ำตาลเพื่อป้องกันผลเสียต่อตับg

=============================

อ้างอิง

a. Feld JJ, Lavoie ÉG, Fausther M and Dranoff JA. I drink for my liver, Doc: emerging evidence that coffee prevents cirrhosis [version 2; referees: 3 approved] F1000Research 2015, 4:95

b. Jin X, Zheng RH, Li YM, Green tea consumption and liver disease: a systematic review, Liver Int. 2008 Aug;28(7):990-6.

c. Rangboo V, Noroozi M, Zavoshy R, et al., the effect of artichoke leaf extract on alanine aminotransferase and aspartate aminotransferase in the patients with nonalcoholic steatohepatitis. Int J Hepatol. 2016;2016:4030476.

d. Panahi Y, Kianpour P, Mohtashami R, Atkin SL, et al., Efficacy of artichoke leaf extract in non-alcoholic fatty liver disease: A pilot double-blind randomized controlled trial. Phytother Res. 2018;32(7):1382-87.

e. Kalvandi R, Rajabi M, Kahramfar Z, Chaleh Cheleh T. Investigation of the Effect of Artichoke (Cynara Scolymus L.) on Characteristics of the Fatty Liver. Complementary Medicine Journal. 2020; 10(2):134-147.

f. Crabb DW, Im GY, Szabo G, Mellinger JL, Lucey MR. Diagnosis and Treatment of Alcohol-Associated Liver Diseases: 2019 Practice Guidance from the American Association for the Study of Liver Diseases. Hepatology. 2020 Jan;71(1):306-333.

g. Assy N, Nasser G, Kamayse I, Nseir W, Beniashvili Z, Djibre A, Grosovski M. Soft drink consumption linked with fatty liver in the absence of traditional risk factors. Can J Gastroenterol. 2008 Oct;22(10):811-6.